ภาพโดย : Glasses Offapp


จุดเริ่มต้นในเรื่องดนตรีของเจมส์เรียกได้ว่า เขาเกิดมาพร้อมกับเสียงเพลง ด้วยความที่แม่ชื่นชอบในเสียงเพลงอยู่แล้วทำให้ระหว่างที่แม่ของเจมส์อุ้มท้องอยู่นั้นไม่ว่าจะทำกิจวัตรอะไรอยู่ก็ตาม มักจะเปิดเพลงฟังอยู่เสมอ จึงเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มซึมซับกับสิ่งที่เรียกว่าดนตรีตั้งแต่นั้นมา เจมส์ พรหมเทพ สุวรรณศรี มือคีย์บอร์ด วง VEGA เล่าถึงจุดเริ่มต้นและ บุคคลที่มีอิทธิพลทางด้านดนตรีของเขา

“พอโตมาซัก 3-4  ขวบ แค่แม่ตำน้ำพริกก็เต้นเป็นจังหวะแล้ว เราเลยเข้าถึงจังหวะตั้งแต่เด็ก เซนส์มันมีตั้งแต่ตอนนั้น แต่ว่าอาจจะจำความไม่ได้ แต่แม่เป็นคนมาเล่าให้ฟังตอนโต ตอนเด็กเราเป็นอย่างนี้นะ ครอบครัวก็พยายามจะพาไปเรียนดนตรี พาไปเรียนเปียโนอะไร ตามภาษาเด็กเล็ก ที่เป็นการเพิ่มพัฒนาการ เพิ่มศักยภาพของสมอง ที่ให้เด็กพัฒนาไว เรียนรู้ไว ตอนนั้นก็ไม่เอา เพราะเหมือนถูกบังคับ เวลาเราโดนบังคับให้ทำอะไรเราจะไม่เอาเลย ต้องได้เลือกด้วยตัวเอง พอเกิดจากความสมัครใจถึงกล้าลงมือทำ” เจมส์เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวการได้รู้จักดนตรี และผู้ที่มีอิทธิพลทางด้านดนตรีของเขา และต่อด้วยประสบการณ์การเริ่มเล่นดนตรี

“เริ่มมาจากตอนป.5 เห็นเพื่อนเล่นกีตาร์แล้วอยากเล่นบ้าง เลยไปขอพ่อให้ซื้อกีตาร์ให้ตอน ป.6 จากนั้นพ่อก็ส่งไปเรียนกับครูแถวบ้าน ไปเรียนวันแรกครูก็ถามว่า อยากเล่นเพลงอะไร แต่ตอนนั้นในใจเราอยากเรียนเบสิค เราอยากเล่น แค่เพราะเราอยากเล่นมัน และชอบฟังเพลง แต่เราพึ่งมาเข้าใจตอนเราได้มาเป็นครู เหตุผลที่ครูเขาถามแบบนั้น สอนแบบนั้น เพราะเขาอยากจะทำให้เด็กรู้สึกชอบก่อน แต่ว่า Passion ของเรามันมากกว่านั้นเยอะแล้ว มันมากกว่าครูจะมองว่าเราเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ คนนั้น”

ด้วยนิสัยที่เมื่อได้สนใจสิ่งไหนแล้วก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ประกอบกับความใจร้อนของเขาเอง จึงตัดสินใจเลิกไปเรียนกีตาร์กับคุณครู แต่หันมาฝึกด้วยตนเองด้วยการจับตามคอร์ดในหนังสือเพลงที่ซื้อมา แล้วบอกตัวเองว่า ต้องกดคอร์ดให้ได้ทุกหน้าในหนังสือเล่มนี้ หลังจากนั้นเขาเริ่มก็มีเซนส์เรื่องจังหวะเพิ่มขึ้นมา แต่ก็ยังคงไม่รู้ถึงหลักการในการเล่นกีตาร์


แล้วอุปสรรคแรกในทางดนตรีของเขาก็เริ่มขึ้น ด้วยตัวของเขาเองชื่นชอบในด้านดนตรี ในตัวของเด็กวัย 15 ปี ยังไม่มีความเข้าใจพอว่า ถ้าเขาเรียนดนตรีแล้ว เขาจะทำอาชีพอะไรได้บ้างนอกจากการเป็นนักดนตรีอยู่บนเวที อีกทั้งแรงกดดันจากทางบ้านที่ต้องการให้ตัวเขาเข้ารับราชการ หรือทำงานในด้านสายงานที่มั่นคง ซึ่งแน่นอนอาชีพนักดนตรีคงไม่อยู่ในทางเลือกของครอบครัวเขา

พอจบมัธยม 3 เขาจึงถูกผลักดันให้เข้าเรียนห้องสายวิทย์พิเศษ ด้วยภาระของการเรียนที่ค่อนข้างหนัก ทำให้ตัวเขา ต้องห่างจากดนตรี และห่างจากความฝันของเขาเอง ปัญหาอุปสรรค และความกดดันยังคงอยู่ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับครอบครัว ส่งผลแย่ต่อสภาพจิตใจ ทางเลือกหนึ่งที่ครอบครัวคาดหวังก็คือให้เขาไปเป็นข้าราชการแต่สุดท้ายเขาเองก็เลือกที่จะทำตามความฝันตัวเองคือ สอบคณะที่อยากเรียนจริง ๆ คือ ดุริยางค์สากล เครื่องเอกเป็นเปียโน มหาวิยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


การเข้าสู่ 1 ในสมาชิกของวง ‘VEGA’

เจมส์ได้เขาวงจากการชักชวนจาก กันย์ (มือกีตาร์) ให้เข้ามาเล่นในตำแหน่งคีย์บอร์ด ซึ่งตอนนั้นเขาเองก็ยังไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง ประกอบกับสไตล์เพลงที่เขาชื่นชอบต่างกันกับวง และยังไม่ได้เริ่มเรียนรู้ว่าเพลงแนว Psychedelic Rock เป็นแบบไหนจึงได้ปฏิเสธไป แต่ด้วยการตื้อของกันย์ ทำให้เจมส์เริ่มเปิดใจศึกษาแนวเพลงดังกล่าว และได้เขามามีบทบาทหนึ่งในการทำงานเพลง ร่วมถึงเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง ‘VEGA’

“ช่วงแรกเข้าไปด้วยความรู้สึกที่แอนตี้เพลง Rock พยายามบอกทุกคนว่าเรามาในฐานะ back up แต่ด้วยความที่เราไม่ถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ พอได้ทำไปเรื่อยก็รู้สึกสนุก มีความสุขกับการทำวงตรงนั้น รักการทำเพลงในห้องอัด ซึ่งบทบาทผมในวงจะเป็นเรื่องการดูภาพรวมของวง ทั้งการเอาตัวเองไปเล่นในวงทำให้เห็นภาพในมุมมองของผู้เล่น และมุมมองผู้ชม จากการดูจากคลิป แก้ไขจุดที่บกพร่องเพื่อพัฒนาทั้งตัวเองและวง เสริมแนวคิด สิ่งใหม่ๆ ซึ่งบางทีมันก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน บางครั้งเทคนิคแบบนี้เอาไปใช้กับวงไม่เวิร์ค ก็ปรับเปลี่ยนกันไป ผ่านการลองผิดลองถูกกันมาหลายปีจนทำให้ตอนนี้ต่างชัดเจนในหน้าที่ของตัวเอง เพราะทุกคนรู้ช่องทางหรือว่าสไตล์การทำงาน เวลาทำเพลงก็ง่ายขึ้น วงก็มีศักยภาพมากขึ้นไปอีก”

ภาพโดย VEGA

และสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ถ้าพูดถึงเพลงของ VEGA คือเรื่องของ ‘ซาวด์คีย์บอร์ด’ เราเลยอยากให้เจมส์พูดถึงอุกรณ์ต่างๆ ที่ตัวเจมส์ใช้มาแรกจนถึงตัวปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าจดจำมากพอสมควร

คีย์บอร์ดตัวแรกที่ใช้คือ Korg Krome สไตล์เสียงพื้นฐานทั่วไปแต่สิ่งที่ VEGA ต้องการคือซาวด์ดีไซน์ ซาวด์สังเคราะห์ Synthesizer ในตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่า Synthesizer คืออะไรก็เลยเลือกใช้จากของที่เรามีอยู่ก่อนกับเพลง ‘เคมี’ และ ‘ระบำ’ พอได้ทำไปเรื่อย ๆ เราก็ยิ่งมีเป้าหมายเหมือนได้ทำเพลงไป ศึกษาไป เพราะเป็นวิชาที่ต้องเรียนอยู่แล้วในคณะ เราเรียนไปได้ใช้จริงก็ยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจว่าอุปกรณ์ ที่มีอยู่ฟังก์ชั่นไม่ตอบโจทย์กับการทำเพลงแนวนี้ เลยคิดว่าต้องขาย แล้วแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วนเพื่อซื้อ ตัวที่สอง ROLAND RD-64 และ  ซินธิไซเซอร์ตัวที่1 Novation Ultranova ก็จะใช้สองตัวนี้ ในโชว์ต่างๆ ซึ่งเล่นกับวงได้ดีเลยทีเดียว แต่ก็ติดปัญหา ตรงที่ไม่ตอบโจทย์กับการเล่นร้าน (เล่นตามร้านต่างๆ ในช่วงกลางคืนกับอีกวง) เลยต้องเปลี่ยน”

“เปลี่ยนมาเป็นตัวที่ 3 Korg PS60 ตัวนี้มันเลิกผลิตไปแล้ว 7 ปี ซึ่งเทียบคุณภาพเสียงกับ Korg Krome ตัวแรก ถือว่าต่างกันมาก แต่ถึงแม้ว่าเสียงจะไม่ดีมากแต่เรากลับใช้งานมันได้คล่องมือ ทำให้เรารักคีย์บอร์ดตัวนี้มาก แต่ก็ต้องทำใจยอมขายเพราะด้วยคุณภาพเสียงที่ไม่ดีอีกนั่นแหละ และชุดที่เป็นชุดที่ใช้ในปัจจุบันคือ คีบอร์ดตัวที่ 4 YAMAHA MODX6 และ  ซินธิไซเซอร์ตัวที่2 Novation Lanuchkey

กว่าจะมาถึงอุปกรณ์เชตที่ใช้อยู่นั้น เจมส์เองก็ต้องเรียนรู้ และลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมามากพอสมควร อาจจะด้วยนิสัยส่วนตัวของเขา ที่เมื่อได้สนใจสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องศึกษาและเรียนรู้ให้ถึงที่สุด และแน่นอนว่า ในระยะเวลาตั้งแต่เจมส์เข้าสู่วง VEGA ใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน ในมุมมองของเขาเองแล้วเขามองว่า วงมีความโตขึ้นในด้านของวุฒิภาวะ การจัดการอารมณ์ และกระบวนการจัดการต่างๆ ที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้นและเขายังเสริมอีกว่า “พออายุมันเพิ่มขึ้นก็คุยกันง่ายขึ้น จัดการง่ายขึ้น คุยรู้เรื่องงานก็ไปไว เราก็เก็บประสบการณ์ตรงนี้ไปปรับใช้กับทุกงานเลยที่เราเข้าไปมีส่วนร่วม”

การไปอัดเพลงที่กรุงเทพ (Stereo Pieces Studio) และสิ่งที่ยากที่สุดของการทำเพลงอัลบั้มใหม่

ภาพโดย VEGA

“ในการเข้าห้องอัดเราเวลาจำกัดเพียงแค่ 1 อาทิตย์กับ และเวลาซ้อมของวงน้อยเพียงแค่ 3 ครั้ง ก็เลยทำให้เกิดปัญหาตอนไปห้องอัด ต้องมาวอร์ม มาฝึกทำให้เสียเวลาตรงนั้นไป ซึ่งปกติไปอัดแค่เพียง 2 ครั้ง ก็ผ่านแล้ว ทำให้เกิดเป็นความเครียด ยิ่งทำให้เรียกอารมณ์ตอนอัดยากมาก เสียเวลาตรงนั้นมากขึ้นไปอีก แต่สำหรับตัวเราเองไม่เท่าไหร่เพราะว่าเมาบ่อยก็จะจำอารมณ์ตรงนั้นได้ (ฮ่า)”

“แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้ออกไปเจอห้องอัด บรรยากาศการทำงานใหม่ๆ นอกเหนือจากเชียงใหม่ แล้วก็ประทับในวิธีการทำงาน แนวความคิดของโปรดิวเซอร์ (พี่ตวน Cloud Behind) เรารู้สึกว่าตรงนั้นน่ะดีเลยเอาเทคนิคมาใช้จัดการตัวเองตัวเองจัดการระบบเวลา ก็คือการวางตารางชีวิตให้กับตัวเองนั่นแหละ”

ท้ายที่สุดแล้ว เจมส์ก็ได้ร่ำลาด้วยการฝากผลงานเพลงซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุดที่พึ่งปล่อยไปของ VEGA เพลง Lucy In The Yellow Van
“ฝากเป็นกำลังใจพวกเราด้วยนะครับ เพราะเราทุ่มเทกับมันมากจริงๆ และฝากติดตามวง VEGA และอัลบั้มใหม่ที่จะตามมาด้วยครับ และเร็ว ๆ นี้ก็ซุ่ม Facebook page ของผมเอง ‘Hypnotic And Danceable Feel’ ที่เป็นการพูดคุยเม้าท์มอยเกี่ยวกับดนตรี รอติดตามกันครับ”

พรหมเทพ สุวรรณศรี
เจมส์ มือคีย์บอร์ด VEGA