เรื่องและภาพโดย
Chawanwat Foal Siri

“กลองเราเน้นที่ความชอบของเราเลย บางคนเขาอาจจะเน้นแบรนด์ ใช้ซีรีย์เดียวกัน รุ่นเดียวกัน แต่เราไม่ได้เป็นคนซีเรียสขนาดนั้น มีความรู้สึกว่าถ้าชอบใบไหน ก็ใช้ใบนั้นแหละ มันก็อยู่ร่วมกันได้”
วณัฐ หุตะสังกาศ

หลายคนน่าจะรู้จัก ป้อง – วณัฐ หุตะสังกาศ ในบทบาทของมือกลองวง VELS. หรือย้อนไปไกลกว่านั้นกับวง PC 0832/676 เรื่องราวที่น่าสนใจในเส้นทางดนตรีของป้อง เขาไม่ได้เริ่มต้นจากกลอง แต่เริ่มต้นจากกีตาร์ตัวเก่าที่บ้าน ที่คุณแม่ของเขาหยิบมาสอนให้ตอน 8 ขวบ สู่มือกลองจำเป็นในวงดนตรีสมัยมัธยม ในตอนที่วงของเขากำลังขาดตำแหน่งมือกลอง จากนั้นพลิกผันมาตีกลองอย่างจริงจัง เพราะอุบัติเหตุจากการเล่นบาสเกตบอล ที่ทำให้เขาไม่สามารถใช้กีตาร์ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

“เริ่มต้นจากกีตาร์มาก่อน จำได้ว่าหัดเล่นตอน 8 ขวบ คือเราเห็นกีตาร์วางอยู่ในบ้าน แล้วสนใจ เลยให้แม่เป็นคนสอนให้ ไม่เชิงว่าเป็นมือกีตาร์ แต่ชอบเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก แล้วด้วยในวงมีตำแหน่งอื่นครบแล้ว เราเล่นกีตาร์เป็นอยู่คนเดียว เลยเล่นกีตาร์ก็ได้ 

พอช่วง ม.ปลาย ได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน แต่ไม่มีมือกลอง ส่วนเราก็เคยไปนั่งตีเล่น ๆ เลยคิดว่าน่าจะเล่นได้ เลยลองเล่นดู ก็ไปเรียนนิด ๆ หน่อย ๆ คือเล่นเท่าที่เล่นได้ เป็นไอ้ห่วย ไม่ได้ตีเก่งอะไรเลย (ฮ่า ๆ) ตอนเริ่มตีกลองก็คือยังไม่มีกลองอยู่ที่บ้าน อาศัยไปตีที่โรงเรียนเอาอย่างเดียวเลย

จุดเริ่มต้นที่มาเล่นกลองอย่างจริงจัง เกิดขึ้นช่วง ม.6 ตั้งใจจะสอบเข้าวิทยาลัยดุริยศิลป์ (ม.พายัพ) ตอนแรกจะเอากีตาร์ไปสอบ แต่เกิดอุบัติเหตุนิ้วหักตอนเล่นบาสฯ ทำให้เล่นกีตาร์ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เราต้องการเข้าไปเรียน เลยไปติวระยะสั้นแล้วเอากลองไปสอบดู สุดท้ายก็ติดรอบแรก เลยตัดสินใจเลือกเมเจอร์กลอง เรียนกลองมาตลอด 4 ปี”

ตั้งแต่เด็กจนโต ป้องเติบโตมาพร้อมกับเสียงดนตรี อยู่ในทุกย่างก้าวที่สำคัญของชีวิต เขาอาจจะดูเป็นคนที่ ‘อะไรก็ได้’ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตั้งใจกับบางสิ่ง เขาก็สามารถทำได้สมดังความตั้งใจ เราจึงมีความสงสัยว่า จากคนที่เล่นกีตาร์มาตลอด แล้วต้องผันตัวเองมาตีกลองอย่างจริงจัง อุปกรณ์ดนตรีชิ้นแรกของเขาเริ่มต้นที่อะไร

TAMA Imperial Star

กลองชุด ชุดแรกในชีวิต

“ช่วงที่ทำ PC 0832/676 ตอนปี 2 ก็ไปตีกลอง แต่ยังไม่มีอะไรเลยนะ (ฮ่า ๆ) ทำได้แป๊บนึง ถึงเริ่มซื้อกลองชุด ‘TAMA Imperial Star’ เป็นกลองระดับกลาง ซื้อตอนโปรโมชั่นด้วย ราคาประมาณ 30,000 บาท ถือว่าถูกมาก ซึ่งตัวเราเองไม่ได้อยากเล่นของแพง เพราะว่าเล่นไปก็ไม่รู้ว่าจะเก่งขึ้นรึเปล่า (ฮ่า ๆ) เลยแบบช่างแม่ง ไม่เอาดีกว่า 

ก็ใช้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้เลย ไปมาหลายที่แล้ว ถือว่าใช้คุ้มมาก เคยอยากซื้อใหม่เหมือนกัน แต่ก็คิดอีกว่าตัวนี้จะไปอยู่ไหนวะ เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็ยังใช้ได้ เราก็ชอบซาวด์อยู่แล้ว เลยใช้มาเรื่อย ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แล้วด้วยความที่ไม่ได้มีวงเยอะ คาแรคเตอร์ตัวนี้ก็เป็นแบบกลาง ๆ ทำให้รู้สึกว่าใช้ตัวนี้ก็ได้”

สแนร์ใบแรกจากความบังเอิญ ที่ญี่ปุ่น

‘Yamaha Sensitive Series 6” x 14” w/ Wood Hoop’

“สแนร์ได้มาตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อด้วย คือ ‘Yamaha Sensitive Series 6” x 14” w/ Wood Hoop’ เป็นแฮนด์คราฟ บังเอิญไปเจอที่ร้านเครื่องดนตรีมือสอง แล้วไปขอเขาลอง เขาก็บอกลองได้ แต่ห้ามตีโดนขอบ เพราะขอบเป็นไม้ เราก็ลองตี แล้วรู้สึกว่า เห้ย!! เสียงมันดีว่ะ เสียงดีในที่นี้คือเราชอบแค่นั้นเลย แล้วก็แม่งสวย (ฮ่า ๆ) ที่สำคัญชอบตรงที่เป็นขอบไม้

ราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ถ้าถามว่าถูกมั้ยก็ไม่รู้ เพราะเราไม่ได้สำรวจราคามาก่อนเลย ซึ่งโดยรวมมันก็ดี ไม่ได้ขี้เหร่ พอมาใช้ก็มีคนบอกว่าดี แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาอวยรึเปล่านะ (ฮ่า ๆ) ใบนี้ก็ผ่านมาหลายอัลบั้มแล้ว ทั้ง PC 0832/676 และ VELS. ก็ใช้ใบนี้ใบเดียว ไม่เคยใช้สแนร์ใบอื่นเลย”

ฉาบใบแรก

“หลังจากสแนร์ก็จะเป็นใบนี้ ‘Meinl Byzance Vintage Trash Crash 18”’ เป็นฉาบที่เสียงกว้างมาก ไม่เหมือนฉาบทั่วไป”

‘Meinl Byzance Vintage Trash Crash 18”’

“ใบนี้จำได้ว่าขอเงินแม่ซื้อ คือตอนนั้นมันเพิ่งออกมาใหม่ แล้วเราอยากได้ เพราะแม่งเท่มาก คือปกติฉาบจะมีแบบที่เป็นรูอย่างเดียว แต่เราเป็นคนกลัวรูเว้ย! เห็นแล้วมันจั๊กกะจี้ แต่ว่าใบนี้ไม่ได้มีรูอย่างเดียว พอซื้อมาปุ๊บ หลายคนเห็นแล้วอยากได้หมดเลย ไม่ใช่ว่ามันหายากนะ แต่มันผลิตและนำเข้ามาน้อย ใบนี้สั่งมาจาก Facebook ราคาประมาณ 11,000 บาท อายุพอ ๆ กับสแนร์เลย คือพอเริ่มซื้อปุ๊บ แม่งก็งอกตามมาเรื่อย ๆ”

‘Meinl Byzance Vintage Trash 16″’

ฉาบใบที่สอง

ใบนี้จะเป็นซีรีย์เดียวกับใบที่แล้ว ออกมาพร้อมกันเลย คือ ‘Meinl Byzance Vintage Trash 16″’

มันจะมีซาวด์ที่จะไม่ค่อยเหมือนของคนอื่น คือฉาบแต่ละใบไม่เหมือนกันหรอก มันแล้วแต่ความชอบเลยจริง ๆ ใบนี้สั่งมาจากที่เดียวกัน ราคาประมาณ 12,000 บาท”

ไฮแฮทจากเวิ้งนาครเกษม

“ไฮแฮทก็ไม่ได้ตั้งใจซื้อเหมือนกัน ใบนี้ได้มาตอนกลับบ้านที่กรุงเทพ ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้เวิ้งนาครเกษม เลยไปเดินเที่ยว สมัยที่เวิ้งกำลังเริ่มโละ ก็มีของลดราคา เลยไปสะดุดตากับ ‘Istanbul Agop Sultan Hi-Hats 15″’ ด้วยความที่มันมีลายพิเศษไม่เหมือนใบอื่น คือปกติฉาบจะเป็นลายเดียวกันเรียบ ๆ ทั้งใบ แต่ใบนี้เป็น Hand-Hammered Hi Hats สวยจริง ซื้อเพราะแม่งสวย (ฮ่า ๆ) คือไปลองตีแล้วซาวด์แม่งก็ดี แล้วตอนนั้นมันลดราคาด้วย เหลือประมาณ 7,000 บาท ก็เลยแบบ เห้ย! เอาสักหน่อยวะ คือจะซื้อก็ซื้อมาเลย”

‘Istanbul Agop Sultan Hi-Hats 15″’

ไรด์จากฮ่องกง

ไรด์ใบนี้ได้มาจากฮ่องกง คือ ‘K Zildjian Crash Ride 21”’ ได้มาเพราะว่า… นั่นแหละ เหมือนเดิม ไปแล้วแม่งลดราคา (ฮ่า ๆ) คือร้านที่ฮ่องกงจะมีฉาบเป็นแผงเต็มผนังเลย เขาจะมีไม้ให้เราใช้เดินเคาะ

“คือเดินเข้าไปในร้านเสียงดัง ก๊องแก๊ง ๆ คนแม่งเคาะกันเต็มเลย แล้วก็จับเสียงไม่ได้ ว่าที่กูเคาะไป กูได้อะไร! (ฮ่า ๆ) แต่ว่าตัวเนียะ เสียงมันใสมาก เพราะปกติฉาบที่เรามีเสียงจะทึบ ๆ หม่น ๆ หน่อย เพราะฉะนั้นเราต้องมีใบที่มันใสใบนึง เลยเลือกเป็นใบนี้ ราคาลดแล้วประมาณ 8,000 บาท”

‘Roland SPD-SX’

ดรัมแพดสุดทน

“ดรัมแพ็ด ‘Roland SPD-SX’ นี่ก็ได้มาทีหลังแล้วเหมือนกัน ประมาณปี 3 ตอนใกล้จะเรียนจบละ ที่ตัดสินใจซื้อตัวนี้มา เพราะด้วยความที่เป็น PC 0832/676 ใช้ซาวด์ที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขาค่อนข้างเยอะ เลยใช้ตัวนี้แหละง่ายดี แล้วก็ใช้ยาวมาเลย แต่ใกล้พังละ เปิดไม่ค่อยติด ต้องไปลุ้นกลางโชว์ก็มี ตอนนี้เลยตัดสินใจแล้วว่าจะซื้อใหม่แน่ ๆ

เคยเอาตากฝนมาแล้วตอนไปเล่นงาน ‘Noise Market’ ที่กรุงเทพ พอกลับบ้านมารีบแกะทุกอย่างออกมาผึ่ง แล้วก็รอดมาได้ ราคาค่อนข้างสูงหน่อย ประมาณ 30,000 บาท แต่ก็ใช้คุ้มราคา แฮปปี้มาก เพราะว่ามันทำอะไรได้หลายอย่าง บางทีถ้าไปเล่นงานที่เขาอยากได้อะคูสติคเบา ๆ เราก็เลือกใช้แค่ตัวนี้ตัวเดียว ซึ่งก็เล่นได้ แต่จะตะกุกตะกักหน่อย (ฮ่า ๆ)”

คิกแต๊ะเอีย

‘Pearl Eliminator : Redline Chain Drive’

“คิกได้มาหลังสุดเลยตอนประมาณปี 4 เป็นของ ‘Pearl Eliminator : Redline Chain Drive’ คือช่วงนั้นมันกำลังออกมาใหม่ แล้วมีโปรโมชั่น… โปรโมชั่นอีกแล้วว่ะ กูเป็นเหยื่อการตลาดแน่เลย (ฮ่า ๆ) จำได้ว่าตอนนั้นกลับบ้านที่กรุงเทพช่วงตรุษจีน พอได้ไปลองเหยียบแล้วมันก็ดีเว้ย มันแน่นดี ราคาก็โอเค 5,000 บาท อยากได้มากแต่ยังไม่มีเงิน เลยเก็บไว้ในหัว พอได้แต๊ะเอียปุ๊บก็แกะ แล้วก็เดินไปซื้อเลย (ฮ่า ๆ)”

ด้วยความที่ป้องไม่ได้เป็นคนติดแบรนด์ จะเห็นได้ชัดเลยว่า การซื้อกลองหรือฉาบแต่ละใบ เขาจะคำนึงถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ก่อนเป็นอันดับแรก

รองลงมาเป็นเรื่องความชอบส่วนตัว สุดท้ายตัดสินใจด้วยเรื่องความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ต้องจ่ายไป ไม่ง่ายเลยที่เขาจะตัดสินใจซื้อกลองแต่ละใบ เราจึงอยากรู้ว่า ‘กลองในฝัน’ ที่เขาอยากได้คืออะไร

“ที่อยากได้จริงๆ เป็นสแนร์ ‘USA Pork Pie USA Custom’ มันดูเท่มากสำหรับเรา ซาวด์มันเท่ ซาวด์มันแปลก เป็นกลองสัญชาติ คือราคาแม่งสูงจัด แบบไม่สามารถไปยุ่งกับมันได้ คือมันดูธรรมดามากเลยเนาะ แต่ว่ามันแพงเพราะแบรนด์ และไม้ที่ใช้ค่อนข้างดี

แต่ถ้าทั้งชุดที่อยากได้คือ ‘Pearl Midtown’ เป็นกลองชุดเล็ก ราคาหมื่นต้น ๆ เอง เหตุผลหลักที่อยากได้คือ ขนย้ายสะดวกกับความเท่ แค่นั้นเลย ด้วยความที่คนอื่นไม่ค่อยใช้ เราก็เลยคิดว่ามันเท่ว่ะ (ฮ่า ๆ) แต่ก็กลับมาคิดว่า ซื้อมาแล้วยังไงต่อวะ ก็ไม่ค่อยได้ใช้อยู่ดี เลยใช้ชุดนี้ต่อไป แต่ในอนาคตคงซื้ออยู่ดี”

“คิดว่าต่อจากนี้คงไม่ได้ซื้ออะไรเกี่ยวกับกลองแล้ว เพราะคิดว่าที่มีอยู่นี้มันพอแล้ว เราไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้ว”

‘กลองในฝัน’ ของเขาที่อยากได้และเอื้อมถึง ยังคงเน้นไปที่ความคุ้มค่า และ ฟังก์ชั่นในการใช้งาน สำหรับเขาแล้ว กลองทุกใบ ของทุกอย่างที่ซื้อมาต้องได้ใช้งาน ไม่มีชิ้นไหนถูกวางทิ้งไว้อย่างไร้ค่า ป้องทิ้งท้ายกับเราว่า เขาคงไม่ซื้ออะไรที่เกี่ยวกับกลองอีกแล้ว เพราะเขาคิดว่าอุปกรณ์ที่มี เพียงพอกับความต้องการใช้งานจริง ๆ ของเขาไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว

หากเรารู้จักพอ จะพบกับความพอดี ที่ไม่ต้องแลกมาด้วยราคาแพงเสมอไป 

ป้อง – วณัฐ หุตะสังกาศ
VELS.