ความสำเร็จนี่มันมีสเต็ปของมันนะ ทุกอย่างเลยที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็เป็นผลจากความทุ่มเท เวลาประสบการณ์ ผมว่าความสำเร็จในชีวิตคนมันไม่สิ้นสุด แต่ผมเชื่อว่ามันจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีที่มากที่สุด  สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราควรค่าที่จะได้รับมันรึเปล่า  เราต้องตอบตัวเองให้ได้

หากพูดถึงมือกีตาร์รุ่นใหม่ชาวเชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของการดีไซน์โน๊ต รีฟกีตาร์ และเก่งกาจ จะไม่พูดถึงคนนี้คงเป็นไม่ได้ เศษรฐกิจ สิทธิ หรือ เบียร์ จากวง Solitude Is Bliss (ความสันโดดคือความสุข) เราเลยได้มีโอกาสพูดคุย ถามความเป็นไปในเรื่องของเส้นทางดนตรีและประสบการณ์ดนตรีที่ผ่านมาของเขา รวมถึงอาวุธประจำกายคือ กีตาร์ ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร

จุดเริ่มต้นของการเริ่มเล่นกีตาร์เริ่มจากการเห็นอาของผมเล่นกีตาร์ ตอนนั้น ผมคิดว่าโอกาสน้อยมากที่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งจะได้เห็นคนเล่นกีตาร์กับหนังสือเพลง ยิ่งเค้าแกะ lick ในเพลงได้ เรายิ่งตื่นเต้น ก็ขอให้อาสอนมาตั้งแต่นั้น ก็ตีคอร์ดสองคอร์ดก๊องแก๊งไปก่อน

พอเข้าโรงเรียนช่วงมัธยม เราก็เห็นรุ่นพี่เก่ง ๆ เยอะมาก คนที่แบกกีตาร์มาโรงเรียนคือโคตรเท่ เราเลยจริงจังกับการฝึกเล่นตีคอร์ดร้องเพลงให้ได้มาตั้งแต่นั้น
แล้วมันก็พัฒนาเรื่อย ๆ จนเราชวนเพื่อนในโรงเรียนไปประกวดดนตรี จนชนะ เราเลยคิดว่าจะจริงจังกับกีตาร์มาตั้งแต่นั้น

.

สไตล์หรือแนวเพลงที่ชอบส่วนใหญ่ ถ้าตอบแบบกว้าง ๆ คงเป็น สไตล์ที่เราเห็นบรรยกาศ เรารู้สึก และเป็นจริตเรา คือมันจะเป็นดนตรีแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น เราไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษเท่าไหร่ แล้วแต่ว่าเราอยากฟังเพลงแบบไหนในช่วงเวลาไหน ซึ่งมันก็ตอบได้หลายแบบอยู่ดี 

ใครคือบุคคลที่มีอิทธิพลทางด้านดนตรีของพี่เบียร์มากที่สุด

“ผมไม่อยากตอบว่ามากที่สุดคือใคร เพราะใครก็ตามที่มีผลในชีวิตเรา  ช่วงหนึ่งในชีวิตเรา มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ คนที่เรานับถือและอยากทำให้ได้แบบเขา แล้วเราพยายามเพื่อจะเป็นได้แบบเขา คนนั้นก็มีอิทธิพลกับเราแล้ว ยกตัวอย่าง เดือนนี้ผมอยากเป็น Hendrix ผมฟังเพลง ผมแกะ lick เดือนหน้าผมก็อาจจะอยากเป็น Jonathan Kreisberg ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นตัวเราเองนะ ทุกคนจะหลอมรวมมาเป็นเราเอง”

ความเป็นมาของกีตาร์แต่ละตัว 

กีตาร์ตัวแรกเป็นกีตาร์ยี่ห้อ Melody พ่อผมซื้อเป็นของขวัญให้ ตอนอยู่ ม.3  โคตรดีใจเลยล่ะ  แต่ผมโกรธตัวเองทุกครั้งนะที่คิดถึงตัวนี้เพราะผมเอาไปแลกกับกีตาร์คลาสสิคของรุ่นน้อง เพื่อเอาไปสอบเข้า สาขาดนตรี ในมหาลัย สุดท้ายมันก็กลายเป็นแลกกันเปล่า ๆ โอเคตอนนั้นเรายังเด็ก พอโตมาปุ๊ป เห้ยยย กูทำไรไปวะเนี่ยย คือมันเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิดใจล้วน ๆ ตอนนี้ก็กำลังขอซื้อต่อน้องที่ให้แลกอยู่ครับ ต่อให้มันจะกลายเป็นเศษไม้ ผมยอมซื้อนะ

เอาจริง ๆ ผมเป็นคนเล่นกีตาร์ทรงเดิม ๆ ตัวเดิม ๆ มานานมาก พึ่งมามีโอกาสได้เล่นกีตาร์ตัวใหม่ ๆ ที่เป็นของตัวเองก็ไม่นานมานี้แหละ

เริ่มจาก Squier tele vib 50 ตัวนี้ผมเรียกว่ากีตาร์อาจารย์นะคือผ่านรุ่นพี่มือกีตาร์ที่เคารพในเชียงใหม่มาสองคน ผมน่าจะได้มาเป็นมือที่ 3 เลย ตั้งแต่ปี 2012 แล้วก็เล่นมันยาวจน 2020 เลย จริง ๆ เราไม่ได้ชอบ Tele มาตั้งแต่แรกนะ เพราะตอนนั้นเราติดโทนหนา ๆ แบบ semi-hollow อยู่ แต่เราเชื่อในรุ่นพี่เอามาก ๆ บวกกับการเป็นนิสิตทุนน้อยด้วย เราทำอะไรได้ไม่มากหรอกนอกจากเปลี่ยนความคิด (ฮ่าๆ) คือตราบใดที่รุ่นพี่เราเล่นออกมาเพราะ เราก็ยังเชื่อเสมอว่า มันอยู่ที่นิ้ว มันอยู่ที่ข้างใน ของคนที่เล่นซะมากกว่า แล้วจากนั้นเราก็ไม่คิดจะเปลี่ยนมันเลย

ผมว่าตรงนี้สำคัญนะ  มันทำให้เราเข้าใจกีตาร์ตัวเองมาก ๆ 

ช่วงทำ Solitude หลังอัลบั้มอีพีแรก พอมีเงินเก็บบ้าง ก็ค่อย ๆ อัพเกรด โมดิฟาย มันเพิ่มขึ้น รวม ๆ แล้วแพงกว่าตัวกีตาร์ไปเยอะเหมือนกัน อ้อ…..ผมติด Pu lollar vintage เข้าไป แม้ว่าส่วน Hardware Squier จะเป็นรอง Fender แต่พอติด Lollar ปุ๊ป ผมขายกีตาร์ตัวอื่นที่ซื้อมาลองตอนนั้นหมดเลยนะ มีครั้งหนึ่งรุ่นน้องในคณะเอา Fender us มาเทียบคือมีหนาวอ่ะ ฮ่าๆๆ  สำคัญกว่า PU คือไม้นั่นแหละ ยิ่งนาน ยิ่งสุดครับ ปีนี้ ก็ให้เขาได้พักบ้าง เพราะเขาก็ร่วมลำบากมากับเรานาน 

ตัวที่ 2 YAMAHA FG430A (กีตาร์โปร่ง) เป็นตัวที่ซื้อด้วยตัวเองแล้วยังใช้อยู่ตอนนี้ ตัวนี้เลิกผลิตไปนานแล้ว เป็นกีตาร์ปีเก่า ซึ่งในรุ่น FG ผมเคยลองของเพื่อน (รุ่นเก่ากว่า) แล้วชอบความ vintage ของมันมาก แต่ของเพื่อนเป็น FG ราว ๆ ปี 70 เลย พอมีตัวนี้ลงขายก็เลยไม่ได้คิดมากเท่าไหร่  แต่เสียงคนละแบบกันเลย แต่ก็ไม่ได้ผิดหวัง เพราะเราต้องใช้เล่นดนตรีกลางคืน คือข้อดีมันมากกว่า 1 ข้ออยู่แล้ว

ตัวที่ 3 Squier mustang ตัวนี้ต้องขอบคุณ ป๋าสิทธิ์ แห่งร้าน MIW เลยครับคือป๋าช่วยประสานงานกับทางด้านห้างดนตรี เบ๊ เงียบ เส็ง จนเราได้รับการสนับสนุนจาก Squier thailand ผมและคนในวง solitude ก็รู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ โด่งกับเฟนก็เลือกรุ่นอื่น ๆ ที่เขาชอบไป ผมก็เลือก mustang เพราะเคยลองของน้องโจ วง มัฌชิมา แล้วชอบในความเปรี้ยวของมันคือ mustang มันมีเอกลักษณ์มาก ๆ พอมีโอกาสเราก็คิดไวมาก ตัวนี้แหละ

ขอบคุณภาพจากเพจ : Beh Ngiep Seng

ตัวที่ 4  Fender player stratocaster เป็น Fender ตัวแรกในชีวิตที่มีไว้ครอบครองเลยล่ะ ตัวนี้ได้จากการลง Challenge solo guitar จากค่าย Jaymidi แล้วความพีคคือมันดันชนะ (ฮ่าๆ) จริง ๆ เรากะลงแค่ให้มันมีลุ้นว่าจะได้ติดอันดับ 3-5 นะ เพราะเราอยากได้ตังค์มากกว่า (ฮ่าาาาาา)  แต่พอได้รางวัลชนะเลิศ มันก็ถือว่าเราก้าวมาอีกขั้นของการเล่นกีตาร์ได้บ้างแล้ว 

พอได้ตัวนี้มาผมก็ไม่คิดจะขายนะ คือเราซ้อมหนักมาก คือซ้อมจนนิ้วพัง เล็บขบ เพราะเราอยากก้าวข้ามความรู้สึกหม่นหมองในช่วง โควิด นั่นแหละ มันไม่มีอะไรแย่ไปกว่านั้นแล้ว ผมว่าทุกคนมีความแย่สุด ๆ แตกต่างกันไปนะ ในความแย่สุดๆมันก้มีแค่สองทางเลือก ว่าจะปล่อยให้สุด แย่อยู่อย่างนั่น หรือ Move on ตัวเองให้ได้ ผมภูมิใจกับตัวเองที่เลือกแบบที่ 2 

แล้วถามถึงกีตาร์ที่อยากได้ เอาจริง ๆ ผมไม่ได้อยากได้อะไรเป็นพิเศษเลย ไม่รู้เหมือนกัน คือผมไม่ได้ลุ่มหลงในตัวกีตาร์มากขนาดนั้น แต่จะสนใจยี่ห้อไหนก็ได้ที่มันให้เสียงเก่า ๆ โบราณ ๆ ผมลุ่มหลงในเสียงเก่า ๆ มาก ๆ

วิธีคิดคอร์ดโซโล่ มีเทคนิคอะไรมาแชร์ให้คนอื่นมั้ย

ขอตอบเป็นวิธีคิดแล้วกัน อย่างแรกเลย การจะครีเอทอะไรขึ้นมาแล้วมันเจ๋งมาก ๆ เนี่ย มันคือประสบการณ์ ผมเชื่อแบบนั้น คือคนเล่นกีตาร์มาเหมือนกัน ระยะเวลาเท่ากัน ฝึกคล้าย ๆ กัน ครีเอทออกมาไม่เหมือนกัน การฟัง การเล่น การแกะเพลงที่ดีในระยะเวลานาน ๆ มีผลมาก ๆ  อย่างที่สอง หลักการคิดงานเพลงของผมคือ ก่อนจะคิดโน้ตสักชุด มันต้องเป็นเสียงที่เราได้ยิน เรารู้สึก นี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์นั่นแหละ สิ่งสำคัญคือคุณเคยฝึกมานานแค่ไหน ฝึกอะไรบ้าง ฟังอะไรบ้าง แกะอะไรบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินตอนครีเอทงานเพลง มันมาจากเรื่องพวกนี้ อย่าง ผมเอากีตาร์มาจับ ผมกดผมดีดอะไรไปเรื่อย แล้วมันดันเป็นเพลง ดันได้โน้ตเจ๋ง ๆ ขึ้นมาบางทีมันก็ง่าย ๆ แค่นี้เลย

พอพูดถึงตรงนี้ก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ ซึ่งแน่นอนแต่ละคนจะมีตัวชี้วัด ความสำเร็จต่างกัน เลยอยากถามว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จ ของพี่เบียร์ตอนนี้คืออะไร

การที่เราเห็นภาพว่าตัวเราเองจะได้ทำแบบนี้ และเป็นแบบนี้ในอนาคต แล้วมันทำได้ มันเป็นได้ แค่นี้ก็คือสำเร็จแล้วนะผมตอบตรงคำถามไหมนะ ฮ่าๆๆๆ
.
ณ ตอนนี้ ชีวิตในปีนี้ เพราะผมเห็นภาพว่าตัวเองจะทำอะไรในช่วงแย่ ๆ แบบนี้ (ช่วงโควิด 19 ระบาดหนัก) ได้บ้าง แล้วมันก็ทำได้ อย่างที่ชัด ๆ คือตอนชนะการประกวดของทางค่าย Jaymidi หลังจากงานนั้นพี่บอล Scrubb ก็ติดต่อเข้ามา ก็สนใจในไลน์กีตาร์ ความใหม่บางอย่างที่อยู่ในตัวเรา เราก็ได้มีโอกาสใส่พาร์ทกีตาร์เข้าไปในเพลงใหม่ ของ Scrubb เลย อันนี้พีคมาก เพราะเราอยู่กับเพลงของ Scrubb มาตั้งแต่เด็ก พี่บอลน่ารักมาก ๆ
แล้วก็มีล่าสุด เขียนไขและวานิช  อันนี้ก็พีคแบบสะดุ้งเหมือนกัน ฮ่าๆๆ คือที่ได้ร่วมงานเพราะเราเคยไปเล่นที่ The poe ซึ่งพี่คลีก็ชอบในการเล่นของเรา และนึกถึงเราในเพลงใหม่ของเขียนไขนี้ แล้วเราก็ลุยกันเลย สนุกมาก ๆ ในมุมมองของผม เพลงนี้คือมิติใหม่ของเขียนไขและวานิชเลย 

ยังไงก็ฝากติดตามเพลงใหม่ทั้งสองวงนี้ซึ่งผมได้อัดพาร์ทกีตาร์ลงไปด้วยนะครับ พี่ ๆ ทั้งสองวงน่าจะปล่อยกันในเร็ว ๆ นี้ครับ  

ความสำเร็จนี่มันมีสเต็ปของมันนะ ทุกอย่างเลยที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็เป็นผลจากความทุ่มเท เวลาประสบการณ์ ผมว่าความสำเร็จในชีวิตคนมันไม่สิ้นสุด แต่ผมเชื่อว่ามันจะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีที่มากที่สุด  สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราควรค่าที่จะได้รับมันรึเปล่า  เราต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วยนะ ว่าแต่ละครั้ง เรา Deserve เพราะอะไร ส่วนการจะเล่นดนตรีไปถึงตอนไหน  ผมว่ามันเป็นคำถามเดียวกันกับ เรากินอาหารเพื่ออะไร? เพื่ออยู่ถูกมะ งั้นใช่แล้ว เราเลยต้องชีวิตอยู่และเล่นดนตรีต่อไป

มุมมองของเรื่องการขายวิญญาณให้ซาตาน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

เอาจริง ๆ ผมตลกกับเรื่องนี้นะ  ผมเป็นคนเชื่ออะไรยาก อาจต้องลองพูดกับซาตานดู แต่ผมไม่ลองนะ ฮ่า ๆ แต่ถ้ามองในมุมเปรียบเทียบ ซาตานคงเป็นความทุกข์ทรมานบางอย่างในชีวิต การขายวิญญาณ อาจเป็นเหมือนกับการถวายชีวิตเพื่อเส้นทางหนึ่งที่ตัวเองรัก และอยากสำเร็จสักครั้งก่อนตาย ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม อะไรแบบนี้มั้ง 

ส่วนตัวเราเองเราชอบมุมมองนี้ของพี่เบียร์ เพราะเป็นมุมมองใหม่ที่เราเองไม่เคยนึกถึง เพราะถ้าพูดถึงเรื่องการขายวิญญาณแล้ว เราก็จะเห็นถึงเรื่องราว การทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับซาตานว่า หากซาตานทำให้เขาไปยืนในจุดที่ประสบผลสำเร็จที่สุดในชีวิตได้ เชิญเอาวิญญาณของตนไปได้เลย แต่พี่เบียร์ทำให้เราต้องมีมุมมองถึงเรื่องราวนี้เปลี่ยนและแตกต่างออกไป เพราะตามที่เขาบอก ความสำเร็จมันมีสเต็ปของมัน และเราเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มองว่า ไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เพราะตัวชี้วัดนั้นจะเปลี่ยนไปตามแต่ละสเต็ป สุดท้ายแล้วเราอาจจะอยากมีความสำเร็จที่วนกลับมา กลับมามีความสุขกับชีวิตที่แสนจะเรียบง่ายก็ได้

ขอให้ดนตรียังอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิตคุณ
🙂